วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อาหารไทยๆ



ต้มยำกุ้ง
ส่วนผสม
* กุ้งขนาดกลาง 12 ตัว (ปอกเปลือก, ทำความสะอาด)
* เห็ดฟาง 10 อัน
* ตะไคร้ 1 กำ  (ทุบให้แหลกและหั่นเป็นท่อนยาวประมาณ 2")
* ใบมะกรูด 3 ใบ
* เกลือ 1 ช้อนชา
* น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
* น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
* พริกขี้หนู 6 เม็ด (ทุบพอให้แหลก)
* น้ำสะอาด 4 ถ้วยตวง
* ผักชี 1/2 ถ้วยตวง (หั่นหยาบ)
วิธีทำทีละขั้นตอน
1. ปอกเปลือกกุ้งออก เหลือหางไว้ (เพื่อความสวยงามเมื่อปรุงเสร็จ) จากนั้นหั่นด้านหลังกุ้งเพื่อเอาเส้นเลือดสีดำออก เสร็จแล้วนำเห็ดฟางไปล้างให้สะอาด หั่นเป็น 4 ส่วนและนำไปผึ่งให้แห้ง
2. นำน้ำเปล่าไปต้มในหม้อ จากนั้นใส่ตะไคร้, ใบมะกรูด และกุ้ง เมื่อสีกุ้งเริ่มเปลี่ยนเป็นสีชมพู (เริ่มสุก) ใส่เห็ดที่หั่นไว้แล้วและเกลือ
3. หลังจากน้ำเดือดแล้วปิดไฟ และนำหม้อออกมาจากเตา ปรุงรสด้วยน้ำปลา, น้ำมะนาว และพริกขี้หนู เมื่อปรุงรสเสร็จตักเสิรฟในถ้วย ตกแต่งด้วยผักชีและเสิรฟทันที พร้อมด้วยข้าวสวยร้อนๆ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
http://www.ezythaicooking.com/free_recipes/Spicy-soup-with-prawn-and-lemon-grass_th.html
 




แกงเขียวหวานไก่
ส่วนผสม
* น้ำพริกแกงเขียวหวาน 1/4 ถ้วยตวง
* เนื้อไก่ 350 กรัม (หั่นเป็นชิ้นเล็ก พอดีคำ)
* กะทิ 1 1/4 ถ้วยตวง
* ใบโหระพา 1/4 ถ้วยตวง
* มะเขือเปราะ 2 ลูก (หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ)
* น้ำซุปไก่ 1/2 ถ้วยตวง
* น้ำตาลมะพร้าว 2 ช้อนโต๊ะ (หรือน้ำตาลทรายธรรมดา)
* น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
* พริกชี้ฟ้าแดง 2 เม็ด (หั่นเฉียง)
* ใบมะกรูด 4 ใบ
วิธีทำทีละขั้นตอน
1. ตั้งกะทิ 1/2 ถ้วยตวง (กระทิส่วนที่เหลือไว้ค่อยใช้ในขั้นตอนต่อไป) บนกระทะจนร้อน (ใช้ไฟปานกลาง) คนจนกระทิเดือดประมาณ 3 - 5 นาที จากนั้นใส่เครื่องแกงเขียวหวานลงไปผัดกับกระทิสักพักจนน้ำกระทิงวดลง จึงเทส่วนผสมทั้งหมดลงในหม้อใหญ่
2. นำหม้อใบใหญ่ตั้งไฟปานกลาง ใส่เนื้อไก่และคนประมาณ 2 นาที จากนั้นใส่น้ำปลา, น้ำตาล คนต่อไปอีก 1 นาที ใส่มะเขือเปราะที่หั่นไว้แล้ว ใส่น้ำกระทิที่เหลือและใส่น้ำซุปไก่ ต้มต่อไปสักพักจนเนื้อไก่เริ่มสุก และมะเขือเปราะนิ่ม
3. ใส่ใบมะกรูดและใบโหระพา รอจนเดือด จากนั้นจึงปิดไฟ ตักใส่ถ้วยเสิรฟพร้อมกับข้าวสวยร้อนๆ และพริกน้ำปลา
หมายเหตุ : แกงเขียวหวานนอกจากจะนิยมรับประทานกับข้าวสวยแล้ว ยังนิยมทานกับขนมจีนอีกด้วย . . .


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก



ผัดไท
ส่วนผสม
* กุ้งสด 12 ตัว (ทำความสะอาด, ปอกเปลือก)
* เส้นจันท์ (หรือเส้นเล็ก) 90 กรัม
* ถั่วงอก 50 กรัม
* ใบกุ้ยช่าย 2 ช้อนโต๊ะ (หั่นให้มีความยาวประมาณ 1 นิ้ว)
* น้ำปลา 6 ช้อนโต๊ะ
* น้ำมันหอย 6 ช้อนโต๊ะ
* น้ำมะขาม 3 ช้อนโต๊ะ (หรือน้ำส้มสายชู)
* น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ
* หัวไชโป้ว 2 ช้อนโต๊ะ
* ถั่วลิสงบด 2 ช้อนโต๊ะ
* ไข่ 2 ฟอง
* พริกป่น 1 ช้อนโต๊ะ (ถ้าชอบรสจัด)
* มะนาว 1/2 ลูก
วิธีทำทีละขั้นตอน
1. กรณีใช้เส้นชนิดแห้ง ให้นำเส้นไปแช่น้ำธรรมดา (อุณหภูมิห้อง) ประมาณ 30 นาที
2. ตั้งกระทะบนไฟปานกลาง ใส่กุ้งลงไปผัดจนเริ่มสุก ตอกใส่ไข่ลงไปในกระทะ ใช้ตะหลิวเขี่ยให้ไข่แดงแตก พอไข่เริ่มสุก ใส่เส้น, น้ำตาล, ถั่วลิสงและ หัวไชโป้ว ผัดจนเส้นเริ่มนุ่มและเครื่องปรุงทั้งหมดผสมกันทั่ว
3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา, น้ำมันหอย และน้ำมะขาม (หรือน้ำส้มสายชู) ใส่ถั่วงอก, หัวไชโป้วและพริกป่น (ถ้าชอบรสจัด) ผัดอย่างรวดเร็วให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันทั่ว ตักใส่จาน จัดแต่งด้วยถั่วงอกสด, พริกป่น, และมะนาว ข้างจาน ควรเสิรฟขณะยังร้อน

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก



ผัดกะเพรา
ส่วนผสม
* เนื้อไก่ 450 กรัม (หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พอดีคำ)   หรือเนื้ออะไรก็ได้ตามใจชอบ
* กระเทียม 5 กลีบ (สับให้ละเอียด)
* หัวหอมใหญ่ 1/2 ถ้วยตวง (หั่นเป็นชิ้นบางๆ)
* น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
* ซิอิ๊วดำ 2 ช้อนชา
* น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
* ใบกะเพรา 1 ถ้วยตวง
* พริก 7 เม็ด (ทุบพอแหลกและสับหยาบๆ)
* พริกไทยป่น
หมายเหตุ : สามารถใส่ผักอื่นๆลงไปผัดร่วมด้วยเช่น แครอท, ถั่วฝัก, ข้าวโพดอ่อน เป็นต้น
วิธีทำทีละขั้นตอน
1. ตั้งน้ำมันในกระทะจนร้อน จากนั้นใส่กระเทียมและผัด 5-10 วินาที ใส่หอมใหญ่ และผัดต่อไปอีกสักพักจนกลิ่นเริ่มหอม ใส่เนื้อไก่ลงต่อและผัดจนเนื้อไก่สุกทั่ว
2. ใส่พริกและซิอิ๊วดำลงไปในกระทะ ผัดต่อไปอีก 15-20 วินาที
3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา และใส่ใบกะเพราลงไปในกระทะ ปิดไฟจากนั้นผัดให้กะเพราผสมกับเนื้อไก่จนทั่ว ตักใส่จาน ก่อนเสิรฟโรยหน้าด้วยพริกไทย เสิรฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ ในบางครั้งไข่เจียวหรือไข่ดาวมักจะเสิรฟร่วมด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก



ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์
ส่วนผสม
* เนื้อสะโพกไก่ 300 กรัม (หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ)
* ซ๊อสถั่วเหลือง 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
* ซ๊อสหอยนางรม 2 ช้อนโต๊ะ
* มะม่วงหิมพานต์ 1/3 ถ้วยตวง
* ต้มหอม 2 ต้น (หั่นความยาวประมาณ 1")
* กระเทียม 3 กลีบ (หั่นละเอียด)
* หอมใหญ่ 1/4 หัว (หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ)
* พริกแห้ง 4 เม็ด (หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ)
* น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
* เหล้าจีน (หรือไวน์สำหรับทำอาหาร) 1 ช้อนโต๊ะ
* น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำทีละขั้นตอน
1. ใส่น้ำมันในกระทะแล้วนำไปตั้งไฟปานกลาง ใส่กระเทียม, หอมใหญ่ และพริกแห้งลงไปผัดจนกระทั่งกลิ่นเริ่มหอม
2. จากนั้นใส่เนื้อไก่ลงไปผัด ปรุงรสด้วยซ๊อสถั่วเหลือง, ซ๊อสหอยนางรม และน้ำตาล
3. ผัดส่วนผสมทั้งหมดในกระทะให้เข้ากัน และผัดจนเนื้อไก่สุก จากนั้นใส่เหล้าจีน, มะม่วงหิมพานต์ และต้นหอม ผัดต่อไปอีก 1-2 นาทีจึงปิดไฟ
4. ตักใส่จาน เสิรฟพร้อมกับข้าวสวยร้อนๆ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก



พะแนงหมู
ส่วนผสม
* เนื้อหมู 400 กรัม (หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ)
* น้ำพริกแกงพะแนง 2 ช้อนโต๊ะ
* น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
* กะทิ 150 กรัม
* น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
* น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
* ใบโหระพา 10 ใบ
* พริกชี้ฟ้า 2 เม็ด (หั่นตามแนวขวาง)
* ใบมะกรูด 3 ใบ (ซอยละเอียด)
วิธีทำทีละขั้นตอน
1. นำเครื่องแกงไปผัดกับน้ำมันประมาณ 1 นาที จากนั้นจึงใส่กระทิลงไปและต้มต่อไปจนเดือด
2. ใส่เนื้อหมู แล้วจึงปรุงรสด้วยน้ำตาลและน้ำปลา
3. เมื่อเนื้อหมูสุกดีแล้ว จึงใส่ใบโหระพา, พริกและใบมะกรูด คนต่อไปอีกสักพัก ตักใส่ถ้วยและเสิรฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
http://www.ezythaicooking.com/free_recipes/Pork-panaeng_th.html

วัฒนธรรมประเพณีของไทย

วัฒนธรรมประเพณีของไทย




วัฒนธรรม หมายถึง วีถีการดำรงชีวิตที่ดีงาม ได้รับการสืบทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันเป็นผลผลิตของมนุษย์ที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ทั้งด้านวัตถุ แนวคิดจิตใจ วัฒนธรรมในท้องถิ่นจะเป็นเอกลักษณ์ของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ วัฒนธรรมคงอยู่ได้เพราะการเรียนรู้ของมนุษย์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และสร้างสรรค์พัฒนาขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง
วัฒนธรรมไทยที่สำคัญ
วัฒนธรรมไทยที่สำคัญ จนกลายเป็นวัฒนธรรมซึ่งนานาชาติยกย่อง และคนไทยมีความภาคภูมิใจมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ได้แก่ภาษาไทย ไทยเรามีภาษาและตัวอักษรเป็นของตนเองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้ใน พ.ศ.1826 และได้มีการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ เนื่องจากเราได้มีการติดต่อเกี่ยวกับนานาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จึงได้รับวัฒนธรรมภาษาต่างชาติเข้ามาปะปนใช้อยู่ในภาษาไทย แต่ก็ได้มีการดัดแปลงจนกลายเป็นภาษาไทยในที่สุด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้
ศาสนา พลเมืองไทยส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนาที่อยู่คู่บ้านบ้านมาช้านานแล้ว ศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์วัฒนธรรมด้านอื่นๆ คนไทยได้ยึดถือเอาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ทั้งส่วนรวมและส่วนบุคคล จะมีพิธีทางศาสนาพุทธเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
การแต่งกาย การแต่งกายของคนไทยมีแบบฉบับ และมีวิวัฒนาการมานานแล้ว โดยจะมีการแต่งกายที่แตกต่างกัน ตามสมัยและโอกาสต่างๆ โดยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่แต่งกายตามสากลอย่างชาวตะวันตก หรือตามแฟชั่นที่แพร่หลายเข้ามา แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีจิตใจที่รักในวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยแบบดั้งเดิมอยู่ ดังจะเห็นได้จากในงานพิธีกรรมต่างๆ จะมีการรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทย หรือชุดไทย หรือรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชาติอื่นให้ความชื่นชม
ศิลปกรรม ถือเป็นภูมิปัญญาไทยที่สำคัญ โดยเป็นผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อความสวยงามก่อให้เกิดความสุขทางใจ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา และเป็นการแสดงความเคารพและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ผลงานที่ปรากฏตามวัดวาอารามต่างๆ เรือนไทยที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษ ศิลปกรรมไทยที่สำคัญได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ วรรณกรรม

วัฒนธรรมประเพณี


งานประเพณีสงกรานต์
เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความงดงามอ่อนโยนและเอื้ออาทร เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความอบอุ่น สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด ซึ่งในแต่ละปีช่วงเทศกาลสงกรานต์จะเป็นช่วงวันหยุดยาวที่หลายคนได้พักผ่อนอยู่บ้าน หรือเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด  ไปอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว ทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่เพื่อให้เป็นสิริมงคลในชีวิต รวมถึงเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน หรือเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อชาร์จพลังกับวันหยุดยาว แต่สำหรับคนที่ยังไม่มีโปรแกรมว่าปีนี้จะไปเล่นสงกรานต์ดับร้อนที่ไหนดี สนุก! ท่องเที่ยว ก็ได้รวบรวมสถานที่เล่นน้ำสุดฮอตจากทั่วประเทศมาเป็นของขวัญปีใหม่สไตล์ไทยๆ ให้ผู้อ่านได้เย็นฉ่ำหัวใจกันทุกคนแล้ว
ทำบุญตักบาตร
สงกรานต์วันต้นหรือวันมหาสงกรานต์ ชาวบ้านลุกขึ้นแต่ไก่ขัน เพื่อเตรียมไปตักบาตรถวายพระ พอหุงหาอาหารเสร็จ ก็จัดเตรียมอาหารและสิ่งของถวายพระบรรจุลงภาชนะมีถ้วยโถโอชามอย่างดี แล้วแต่จะมี แล้วเอาวางเรียงลงในถาด หรือภาชนะอย่างอื่นๆ ที่นิยมในท้องถิ่น เพื่อนำไปทำบุญตักบาตรและเลี้ยงพระประจำหมู่บ้านของตน
สงกรานต์ก่อพระเจดีย์ทรายไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะต้องก่อในวันสงกรานต์ ถึงวันอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับสงกรานต์ก็มีก่อกัน และไม่จำเป็นต้องก่อที่ในวัดบางแห่งที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ตอนเหนือๆ ก่อพระเจดีย์ทรายที่หาดทรายในแม่น้ำก็มี เช่น จังหวัดกำแพงเพชร ในวันก่อเขามีทำบุญเลี้ยงพระที่หาดทรายด้วย เรียกกันว่า ก่อพระทรายนำไหล เสร็จแล้วก็มีเลี้ยงพระและเลี้ยงดูกันส่วนทางภาคอีสาน บางแห่งเขาทำบุญสงกรานต์เป็นสองระยะ ระยะแรกทำบุญตักบาตรกลางลานในวันตรุษ ระยะหลังทำบุญตักบาตรที่ลานบ้านในวันสงกรานต์ ทางอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีการทำบุญตักบาตรกลางบ้านเหมือนกัน คือเลี้ยงพระกันที่สองข้างถนน จึงเห็นได้ว่าการตักบาตรจะทำกันที่ไหนก็ได้ แล้วแต่สะดวกและนัดกัน ทางจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการก่อพระเจดีย์ทรายเป็นสองตอน ตอนที่หนึ่งก่อที่ลานวัดในวันตรุษ และอีกตอนหนึ่งก่อที่ลานบ้านในวันมหาสงกรานต์ การก่อพระเจดีย์ทรายที่กลางลานบ้านเขาก่อแต่องค์เดียวเป็นส่วนรวม จะขนาดเล็กขนาดใหญ่ก็แล้วแต่กำลังที่จะไปหาบขนเอาทรายมาได้มากน้อยเท่าไหร่ สำหรับก่อทรายที่จะนำมาก่อนั้นเอามาจากลำห้วยลำธาร หรือตามหาดทรายในแม่น้ำ แล้วแต่จะสะดวก การขนทรายก็ไม่ต้องจ้างใครที่ไหน พวกหนุ่มๆ สาวๆ และเด็กๆ นั่นแหละเป็นผู้โกยไปขนใส่กระบุงหาบคอนกันมาเวลาเย็น


ปล่อยนกปล่อยปลา
เรื่องปล่อยนกปล่อยปลา ที่มักทำกันในวันสงกรานต์ เพราะก่อนหน้าวันสงกรานต์เป็นหน้าแล้งอากาศร้อนจัดน้ำแห้งขอดขาดตอนเป็น ห้วงๆ คงเหลือแต่ที่มีแอ่งและหนองน้ำ ปลาก็ตกคลัก อีกไม่ช้าพอน้ำแห้งหมด ปลาเหล่านั้นก็จะต้องตาย ชาวบ้านจึงพากันไปจับปลาที่ตกคลัก ถ้าเป็นลูกปลาจะกินไม่ได้เนื้อได้หนังอะไรก็เลี้ยงไว้ในตุ่มเอาบุญ แล้วนำไปปล่อยในวันสงกรานต์ จึงเกิดเป็นประเพณีปล่อยปลา และลามมาถึงปล่อยนกด้วย
บังสุกุลอิฐ
นอกจากปล่อยนกปล่อยปลาในวันสงกรานต์แล้ว ยังมีประเพณีบังสุกุลอัฐญาติผู้ใหญ่ การบังสุกุลนั้นทำแต่ครั้งเดียวจะทำในวันสงกรานต์วันไหนแล้วแต่จะสมัครใจและนัดหมายกัน โดยมากทำในวันสรงน้ำพระหรือไม่ก็ทำกันในวันท้ายวันสงกรานต์ ถ้าจะทำกันในวันแรกของสงกรานต์ เมื่อพระฉันเพลแล้ว ให้เสร็จธุระกันไปก็ได้ตามประเพณีแต่ก่อนเขาไม่เอาอัฐิเข้าบ้าน ถ้าเป็นชาวบ้านมักฝังญาติผู้ใหญ่ไว้ใต้โคนต้นโพในวัด ฝังไส้ตรงเหลี่ยมไหนรากไหนของต้นโพเขาจำเอาไว้ และนิมนต์พระไปบังสุกุลที่ตรงนั้น
ทางภาคกลางมีประเพณีอันเนื่องด้วยสงกรานต์อีกอย่างหนึ่งคือ ห้ามตักน้ำตำข้าวเก็บผักหักฟืน อันเป็นงานประจำวันครัวเรือนและเป็นงานอยู่ในหน้าที่ของผู้หญิงจะต้องเตรียมหาสำรองเอาไว้ให้พร้อมก่อนถึงวันสงกรานต์จะได้ไม่กังวล


สรงน้ำ รดน้ำ และสาดน้ำ
การสรงน้ำพระพุทธรูป มีดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชา แล้วเอาน้ำอบไปประพรมที่องค์พระ ทำเป็นสังเขปพอเป็นพิธีว่าได้แสดงความเคารพบูชาและสรงน้ำท่านในวันขึ้นปีใหม่แล้ว เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปมา ก็มีการแห่แหนกันอย่างสนุกสนาน สรงน้ำพระพุทธรูปแล้วก็มีการสรงน้ำพระสงฆ์ โดยมากมักเป็นสมภารเจ้าวัดเป็นการสรงน้ำจริงๆ สรงเสร็จครองไตรจีวรใหม่ที่อุบาสกอุบาสิกานำมาถวาย ท่านก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์อำนวยพรปีใหม่ให้แก่ผู้ที่ไปสรงน้ำ นอกจากนี้ยังมีการรดน้ำญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรตามประเพณีสรงน้ำพระเสร็จแล้ว ก็ชวนกันเล่นสนุก สาดน้ำ และเลี้ยงกันที่ลานวัด ของที่เลี้ยงมีขนมปลากริมไข่เต่า และลูกแมงลักน้ำกะทิ ซึ่งชาวบ้านเรี่ยไรออกเงินและจัดทำเอามาเลี้ยงกันด้วยความสามัคคีเหตุที่มีการสรงน้ำ รดน้ำ และสาดน้ำในวันสงกรานต์ เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าการสาดน้ำจะช่วยให้ฝนฟ้าตกบริบูรณ์ประการหนึ่ง น้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีน้ำการเพาะปลูก ทำไร่ไถนาก็ได้ผลประการหนึ่ง และถือกันว่าน้ำเป็นเครื่องชำระมลทินให้สะอาดอีกประการหนึ่ง เหตุนี้น้ำจึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่างๆ อาบน้ำ ซัดน้ำ หรือรดน้ำ เมื่อทำพิธีสมรส อาบน้ำเมื่อตาย อาบน้ำเมื่อโกนจุก หรือบวชนาค ฯลฯ


สงกรานต์รดน้ำดำหัว
เครื่องดำหัวของภาคพายัพ ที่เขานำไปรดน้ำผู้ใหญ่ในวันพญาวัน นอกจากดอกไม้ธูปเทียนและผ้าใหม่สำหรับผลัด เขายังมีหมากพลูไปด้วย เพราะหมากพลูเป็นเครื่องแสดงความเคารพนับถือและเป็นเครื่องแสดงไมตรีจิตด้วย อีกโสดหนึ่งและยังมีน้ำส้มป่อยและน้ำอบ น้ำส้มป่อยเป็นของใช้แทนสบู่ที่เมื่อก่อนยังไม่มีสิ่งนี้ สำหรับสระผมและชำระร่างกาย ผู้ใหญ่เมื่อรับเครื่องดำหัวแล้ว ก็เอาน้ำส้มป่อยและน้ำอบประพรมบนศีรษะพอเป็นกิริยาว่า ได้ดำน้ำสระหัวแล้ว ต่อจากนั้นก็ให้ศีลให้พรกันตามประเพณี
อนึ่งในวันนี้บางคนยังนำเสื้อผ้าของเขาสำรับหนึ่ง ต่างคนเอาบรรจุลงขันของตน พร้อมด้วยเครื่องบริขาร มีกล้วย มีอ้อย มีใบขนุน มีใบแก้วเป็นต้น นำไปตั้งที่ลานวัดภายในมณฑลวงด้ายสายสิญจน์ แล้วพระสงฆ์จะประพรมเสื้อผ้าเหล่านั้นด้วยน้ำมนต์ เพื่อความบริสุทธิ์ของเสื้อผ้าเพื่อใช้ในปีใหม่ เสร็จแล้วนำกลับมาเก็บไว้อย่างนั้น


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก

งานประเพณีลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน
ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
 ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศที่ว่า
"ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย..."
เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า "เรือลอยประทีป" ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย


 
กิจกรรมในวันลอยกระทง
ในปัจจุบันมีการจัดงานลอยกระทงทุก ๆ จังหวัด ซึ่งจะมีกิจกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ แต่กิจกรรมที่มีเหมือน ๆ กันก็คือ การประดิษฐ์กระทง โดยนำวัสดุต่าง ๆ ทั้งหยวกกล้วย ใบตอง หรือจะเป็นกาบพลับพลึง เปลือกมะพร้าว ฯลฯ มาประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการบูชา ให้เป็นกระทงที่สวยงาม ภายหลังมีการใช้วัสดุโฟมที่สามารถประดิษฐ์กระทงได้ง่าย แต่จะทำให้เกิดขยะที่ย่อยสลายยากขึ้น จึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้กระทงโฟมเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อนจะมีการดัดแปลงวัสดุทำกระทงให้หลากหลายขึ้น เช่น กระทงขนมปัง กระทงกระดาษ กระทงพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อให้ย่อยสลายง่ายและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม


เมื่อไปถึงสถานที่ลอยกระทง ก่อนทำการลอยก็จะอธิษฐานในสิ่งที่ปรารถนาขอให้ประสบความสำเร็จ หรือเสี่ยงทายในสิ่งต่าง ๆ จากนั้นจึงปล่อยกระทงให้ลอยไปตามสายน้ำ และในกระทงมักนิยมใส่เงินลงไปด้วย เพราะเชื่อกันว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคา
นอกจากการลอยกระทงแล้ว มักมีกิจกรรมประกวดนางนพมาศอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเพณีลอยกระทง และตามสถานที่จัดงานจะมีการประกวดกระทง ขบวนแห่ มหรสพสมโภชต่าง ๆ บางแห่งอาจมีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก



ประเพณีบุญบั้งไฟ
ประวัติความเป็นมาของบุญบั้งไฟ
ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทยรวมไปถึงลาว โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทางพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ – wikipedia
ประเพณีบุญบั้งไฟมีมาแต่ครั้งไหนยังหาหลักฐานที่แน่ชัด มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟในแง่ต่างๆ ไว้ดังนี้
ความเชื่อของชาวบ้านกับประเพณีบุญบั้งไฟ
ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์ โลกเทวดา และโลกเทวดา มนุษย์อยู่ใต้อิทธิพลของเทวดา การรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างที่แสดงออกทางด้านการนับถือเทวดา และเรียกเทวดาว่า แถนเมื่อถือว่ามีแถนก็ถือว่า ฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของแถน หากทำให้แถนโปรดปราน มนุษย์ก็จะมีความสุข ดังนั้นจึงมีพิธีบูชาแถน การจุดบั้งไฟก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีไปยังแถน ชาวอีสานจำนวนมากเชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนจากพญาแถน และมีนิทานปรัมปราเช่นนี้อยู่ทั่วไป แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน นอกจากนี้ในวรรณกรรมอีสานยังมีความเชื่ออย่างหนึ่งคือ เรื่องพญาคันคาก หรือคางคก พญาคันคากได้รบกับพญาแถนจนชนะแล้วให้พญาแถนบันดาลฝนลงมาตกยังโลกมนุษย์


ความหมายของบั้งไฟ
       คำว่า บั้งไฟในภาษาถิ่นอีสานมักจะสับสนกับคำว่า บ้องไฟแต่ที่ถูกนั้นควรเรียกว่าบั้งไฟดังที่ เจริญชัย ดงไพโรจน์ ได้อธิบายความแตกต่างของคำทั้งสองไว้ว่า บั้งหมายถึง สิ่งที่เป็นกระบอก เช่น บั้งทิง สำหรับใส่น้ำดื่ม หรือบั้งข้าวหลาม เป็นต้น
ในทางศาสนาพุทธกับประเพณีบุญบั้งไฟ
มีการฉลองและบูชาในวันวิสาขบูชากลางเดือนหก มีการทำดอกไม้ไฟในแบบต่างๆ ทั้งไฟน้ำมัน ไฟธูปเทียนและดินประสิว มีการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา 


บุญบั้งไฟ นิยมทำกันในเดือนหก ถือเป็นประเพณีสำคัญที่จะขาดไม่ได้ เพราะตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ถ้าปีใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำทำนา แต่ถ้าปีใดจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัย งานบุญบั้งไฟจึงถือเป็นงานประเพณี ประจำปีที่สำคัญของชาวอีสาน พอใกล้ถึงวันงานชาวอีสานไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับบ้านไปร่วมงานบุญบั้งไฟซึ่งเป็นงานที่สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก



ประเพณีแห่เทียนพรรษา
ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ถือเป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียน เพื่อเอามาหลอมหล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว
อีกทั้งยังเป็นการสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่องการทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลายลงบนต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทย แล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น
ส่วนการจัดขบวนแห่ก็ล้วนแต่ใช้ของพื้นเมือง เช่น เครื่องแต่งกายของขบวนฟ้อนจะใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจากวิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นท่ารำในรูปแบบของศิลปะที่งดงาม ดนตรีประกอบก็เป็นเครื่องดนตรีประจำถิ่น ผสมเข้ากับการขับร้องที่สนุกสนานเร้าใจ ทำให้งานประเพณีนี้ยิ่งใหญ่ ประชาชนต่างเฝ้ารอคอย ศิลปะการฟ้อนรำที่นิยมนำมาประกอบการแสดงในขบวนแห่ ซึ่งดัดแปลงมาจากการประกอบอาชีพในวิถีชีวิตประจำวันทั้งสิ้น
ทั้งนี้ จึงทำให้ "ประเพณีแห่เทียนพรรษา" เป็นอีกหนึ่งงานที่ผู้คนให้ความสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อชมความงดงามของต้นเทียนและขบวนแห่เทียนพรรษา ซึ่งจังหวัดที่จัดงาน

ประเพณีแห่เทียนพรรษา 2555 มีดังนี้...


งานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ประจำปี 2555
จังหวัดอุบลราชธานี กำหนดจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2555 ภายใต้ชื่องาน "111 ปี ลือเลื่อง ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ" ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2555 วัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีและส่งเสริมการท่องเที่ยว กิจกรรมการเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมการตกแต่งต้นเทียน ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีเป็นต้นแบบในการทำเทียนที่หล่อหลอมจากชุมชนในการจัดทำเทียนถวายเป็นพุทธบูชา พิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทานทางชลมารค
โดยภายในงานจะมีการแกะสลักเทียนนานาชาติจากศิลปินนานาชาติ, ขบวนเทียนจากคุ้มวัดต่าง ๆ มีการจัดทำต้นเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ เป็นการนำเทียนประเภทแกะสลักและติดพิมพ์มารวบรวมในต้นเทียนเดียวกัน โดยฝีมือช่างเทียนระดับอาจารย์ 9 ท่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 85 พรรษา และเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวจังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2555 จะมีการเห่เรือท่วงทำนองอีสาน นับเป็นพิธีที่หาชมได้ที่อุบลราชธานีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ภาคกลางคืนในวันเดียวกัน จะมีการแสดง แสง สี ประกอบขบวนเทียนพรรษา สำหรับขบวนแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ โดยจากคุ้มวัดต่าง ๆ ทั่วจังหวัดอุบลราชธานี จะมีในวันเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 3 สิงหาคมนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี โทรศัพท์ 0 4524 3770, 0 4525 0714


งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอำเภอธาตุพนม ประจำปี 2555
จังหวัดนครพนม ขอเชิญร่วม งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอำเภอธาตุพนม ประจำปี 2555 ในวันที่ 3 สิงหาคม 2555 ณ ถนนสุนทรวิจิตร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครพนม โดยภายในงานจะมีขบวนแห่เทียนพรรษาที่ตกแต่งด้วยบุปผชาติอย่างตระการตา, ชมการประกวดต้นเทียน, การประกวดเทพีต้นเทียน, นมัสการพระธาตุพนม ห่มผ้าพระธาตุพร้อมร่วมพิธีเวียนเทียนในวันเข้าพรรษา สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ได้ที่ โทรศัพท์ 0 4251 3490-1


ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ ณ คลองลาดชะโด
 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ อำเภอผักไห่ เทศบาลตำบลลาดชะโด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ ในวันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม 2555 ณ คลองลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เทศบาลตำบลลาดชะโด โทรศัพท์ 0 3574 0263 หรือ ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา 0 3524 6076-7 หรือสนใจสอบถามข้อมูลรายการนำเที่ยว สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย โทรศัพท์ 0 2642 4426-8

 
งานแห่เทียนโคราช ประจำปี 2555
 จังหวัดนครราชสีมา และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จัดงานโดยเทศบาลนครนครราชสีมา กำหนดจัด งานแห่เทียนโคราช ประจำปี 2555 “เสริมบุญ...สร้างบารมี แห่เทียนโคราช 2555” ระหว่างวันที่ 2 – 4 สิงหาคม 2555 ณ บริเวณสวนเมืองทองสวนสุรนารี, สวนอนุสรณ์สถานฯ และลาน
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
สำหรับการประกวดต้นเทียนพรรษา ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศเป็นประจำทุกปี จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ร่วมชมความงดงามอลังการของต้นเทียนพรรษา ซึ่งแต่ละต้นล้วนเกิดจากความเพียรพยายามของช่างเทียนที่มีความชำนาญ สร้างและแกะสลักต้นเทียนอันวิจิตรงดงาม กล่าวได้ว่าฝีมือของช่างเทียนโคราชนั้นไม่แพ้ใคร ในปีนี้ได้มีการประกวดต้นเทียนพรรษาประเภทต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ ประเภท ก. ประเภท ข. ประเภท ค. พร้อมชมขบวนแห่ทางวัฒนธรรม ที่แต่ละอำเภอจัดมาอวดโฉมอย่างยิ่งใหญ่เป็นระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร
ภายในงานยังมีการแสดงแสง สี เสียง พุทธชยันตี 2,600 ปี เดอะมิวสิคัล ซึ่งเป็นการแสดงที่หาชมได้ยาก อีกทั้งกิจกรรมทางบุญกับ 9 บุญ ร่วมทำบุญตักบาตรหลอดไฟ 1 เดียวในโลก, หล่อเทียนพระประจำวันเกิดเป็นที่ระลึกนำกลับไปเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต พร้อมฟังการเสวนาธรรมจากพระวิทยากร และการแสดงดนตรีไทยร่วมสมัยไทยคอนเทมโพรารี่และวงดนตรี ipad กิจกรรมการประกวดถ่ายภาพ ในหัวข้อ "เสริมบุญ...สร้างบารมี" ชิงรางวัลมูลค่ากว่า 100,000 บาท
 และที่สุดพิเศษกับโรงแรมที่พักทั่วเมืองโคราชในช่วง 4 วัน 4 คืน จัดโปรโมชั่นราคาสุดพิเศษให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงแรมที่พัก และดาวน์โหลดใบสมัครประกวดภาพถ่าย ได้ที่ www.koratcity.net ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เทศบาลฯ โทรศัพท์ 0 4427 5933 และทาง เฟซบุ๊ก koratcandle และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานนครราชสีมา โทรศัพท์ 0 4421 3030, 0 4421 3666


งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดสุพรรณบุรี
                จังหวัดสุพรรณบุรี ขอเชิญร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 2 – 4 สิงหาคม 2555 ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี โดยภายในงานจะมีขบวนแห่เทียนพรรษาที่แกะสลักอย่างงดงามของอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมชมการแสดงเอกลักษณ์ท้องถิ่นของแต่ละอำเภอตลอดการแห่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานสุพรรณบุรี โทรศัพท์ 0 3553 5789

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
http://travel.kapook.com/view44506.html